Center for home products and construction materials for Thais
logo_mobile
search
Select Store
First Page
Article
สิ่่งที่ควรรู้ก่อนเลือกซื้อ "เครื่องมือช่างไฟฟ้า"

สิ่่งที่ควรรู้ก่อนเลือกซื้อ "เครื่องมือช่างไฟฟ้า"


ปั๊มลม (Air Compressor)

เป็นอุปกรณ์ที่คอยอัดลมให้มีแรงดันสูง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์กับงานประเภทต่าง ๆ แล้วงานอะไรบ้างที่ต้องใช้ลม ? ก็ต้องบอกเลยว่าตั้งแต่งานเล็ก ๆ อย่างบล็อกไฟฟ้า ปืนยิงตะปู พ่นสีผนัง ไปจนถึงงานระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก-ใหญ่ อย่างงานขับเคลื่อนเครื่องจักร อู่ซ่อมรถยนต์ ร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ คลินิกทันตกรรม ตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยปั๊มลมก็มีหลากหลายประเภท แต่ละประเภทจะมีปริมาณลม และแรงดันมากหรือน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทงานที่เราต้องการนำไปใช้ ซึ่งเราควรเลือก “ปั๊มลม” ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ว่าแต่ปั๊มลมประเภทต่าง ๆ ที่คนนิยมใช้กันหลัก ๆ จะมีอะไรบ้าง เราขอสรุปแบบเข้าใจง่าย ๆ ดังนี้ 

3 ประเภทปั๊มลม

  1. ปั๊มลมสายพาน
    • เป็นปั๊มลมชนิดลูกสูบที่ทำงานโดยใช้มอเตอร์ และสายพานเป็นตัวขับเคลื่อน
    • ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ชนิดเหนี่ยวนำ (Induction Motor) แล้วขับเคลื่อนจากมอเตอร์ไปสู่สายพาน เพื่อหมุนข้อเหวี่ยงของลูกสูบให้อัดอากาศเข้า
    • หัวสูบใช้วัสดุเหล็กหล่อ สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง ทนทานแข็งแรง
    • สามารถใช้งานได้ทนทาน และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าปั๊มลมประเภทอื่น
    • เหมาะกับงานทั่วไป เช่น งานอุตสาหกรรม อู่รถยนต์ พ่นสีรถยนต์
    • ควรเลือกขนาดแรง และถังเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน
    • แนะนำให้ปฏิบัติตามคู่มือการใช้งานอย่างเคร่งครัด 
  2. ปั๊มลมโรตารี่
    • เป็นปั๊มลมระบบขับตรง โดยไม่ใช้สายพาน
    • ระบบลูกสูบออกแบบให้สามารถผลิตลมได้เร็วขึ้น
    • เป็นปั๊มลมขนาดเล็ก ปั๊มลมเข้ามาเก็บได้เร็ว มีความคล่องตัวสูง
    • นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน เพราะเคลื่อนย้ายสะดวก ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน
    • มอเตอร์ขับตรงกับลูกสูบ การส่งผ่านพลังงานจึงทำได้เร็วมาก แต่ต้องใช้น้ำมันในการหล่อลื่นลูกสูบ เพื่อลดการสึกหรอที่เกิดขึ้น
    • ขณะใช้งานเสียงจะค่อนข้างดัง ไม่เหมาะที่จะใช้ในบริเวณที่อยู่อาศัย
    • เหมาะกับงานทั่วไป เช่น งานเฟอร์นิเจอร์ ใช้กับเครื่องขัดกระดาษทราย ไขควงลม ปืนลม ตะปูลม หรือเครื่องมือลมตระกูลต่าง ๆ
    • ไม่เหมาะสำหรับการใช้งานต่อเนื่อง เพราะมอเตอร์อาจร้อนจนไหม้ได้
    • ควรเลือกขนาดให้เหมาะสมกับการใช้งาน
    • แนะนำให้ปฏิบัติตามคู่มือการใช้งานอย่างเคร่งครัด
  3. ปั๊มลมออยล์ฟรี (Oil Free)
    • เป็นปั๊มลมชนิดลูกสูบที่ทำงานโดยใช้มอเตอร์ และสายพานเป็นตัวขับเคลื่อน
    • พัฒนาจากปั๊มลมโรตารี่ ทำให้การอัดอากาศเข้ามีความรวดเร็ว และมีเสียงขณะใช้งานที่ค่อนข้างเงียบกว่ามาก
    • กำลังได้รับความนิยม เพราะใช้งานสะดวก ไม่ต้องเติมน้ำมันหล่อลื่น
    • หัวสูบใช้วัสดุเหล็กหล่อ สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง ทนทานแข็งแรง
    • เหมาะกับงานทั่วไป เช่น งานอุตสาหกรรม งานที่อยู่ในอาคาร คลินิกทันตกรรม
    • เหมาะกับการใช้งานในที่พักอาศัย เพราะไม่มีเสียงดังรบกวนเพื่อนบ้าน
    • ควรเลือกขนาดแรง และถังเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน
    • แนะนำให้ปฏิบัติตามคู่มือการใช้งานอย่างเคร่งครัด

ปั๊มลมกับเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

การใช้งานปั๊มลมให้คำนึงไว้เลยว่า ปั๊มลมเป็นเครื่องมือช่างที่ไม่ควรใช้งานต่อเนื่องยาวนาน แต่ควรให้ปั๊มลมได้พักเหนื่อยเมื่อทำงานมาหนัก ๆ แต่ถ้าหากต้องการใช้งานปั๊มลมนานกว่าปกติ ก็ควรตรวจสอบตัวเครื่อง สวิตช์ หรือส่วนประกอบของตัวเครื่องว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานหรือไม่ เพื่อให้การใช้งานเป็นไปอย่างราบรื่น ส่วนข้อควรพิจารณาในการเลือกซื้อปั๊มลม ก็ให้ดูจากความต้องการในการใช้งานของเราเป็นหลัก ถ้าต้องพึ่งแรงดันลมบ่อย ๆ ควรเลือกเครื่องปั๊มลมที่มีแรงดันสูง และต้องเลือกซื้อจากแบรนด์และผู้จัดจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน มีการเคลือบกันสนิมทั้งด้านในและด้านนอก เพื่อคุณภาพที่ดีของตัวเครื่องปั๊มลมนั่นเอง

เครื่องเชื่อมไฟฟ้า หรือ ตู้เชื่อมไฟฟ้า (Electric Welding Machine)

เป็นอุปกรณ์งานช่างสำหรับงานเชื่อมด้วยไฟฟ้า พูดง่าย ๆ คือเป็นเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในการเชื่อมประสานชิ้นงานระหว่างโลหะกับโลหะเข้าด้วยกัน เรียกได้ว่าเป็นเครื่องที่ช่วยทุ่นแรงให้กับช่างเชื่อมเหล็ก หรือโลหะได้เป็นอย่างมาก ซึ่งหลักการทำงานของมันจะใช้ความร้อนที่เกิดจาก “การอาร์ก” (Arc Welding) ของไฟฟ้าหลอมให้โลหะหรือเหล็กเพื่อให้มันเชื่อมกันนั่นเอง และก่อนที่จะไปช้อปเครื่องเชื่อมให้เหมาะสมกับประเภทงานเชื่อม ก็ขอชวนมาทำความรู้จักเครื่องเชื่อมไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ กันก่อน เพื่อให้คุณเลือกใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ประเภทของเครื่องเชื่อมไฟฟ้า

  1. เครื่องเชื่อมอินเวอร์เตอร์ TIG (Tungsten Inert Gas) - เครื่องเชื่อม TIG หรือ “เครื่องเชื่อมอาร์กอน” ที่เรียกกันชื่อนี้เพราะใช้งานร่วมกับถังก๊าซอาร์กอน โดยเครื่องเชื่อมประเภทนี้เป็นกระบวนการเชื่อมแบบอาร์กชนิดหนึ่งที่ใช้แท่งอิเล็กโทรด (Electrode) เป็นทังสเตน (Tungsten) ในการเชื่อม ซึ่งบริเวณบ่อหลอมจะมีแก๊สเฉื่อยคอยป้องกันการปนเปื้อน จึงเหมาะกับช่างผู้ชำนาญ และงานเชื่อมอะลูมิเนียม หรือสเตนเลสที่ต้องการความประณีต โดยจะเน้นไปที่ชิ้นงานที่มีความบาง อีกทั้งยังมีคุณสมบัติที่โดดเด่น ดังนี้
    • แนวเชื่อมมีความสวยงาม ชิ้นงานดูเนี้ยบมีคุณภาพ
    • แนวเชื่อมมีความแข็งแรงสูง
    • ควันน้อยขณะใช้งาน ไม่มีประกายไฟ
    • เชื่อมวัสดุชิ้นงานได้หลากหลาย
    • ต้องใช้ทักษะในการทำงานเชื่อมสูง
    • ส่วนประกอบของเครื่องเชื่อมอินเวอร์เตอร์ TIG ได้แก่ เครื่องเชื่อม, สายเชื่อม และหัวเชื่อม TIG, สายดิน และคีมจับสายดิน, แก๊ส ARGON และเกจ ARGON 
  2. เครื่องเชื่อมอินเวอร์เตอร์ MIG หรือ MAG (Metal Inert/Active Gas) - เครื่องเชื่อมแบบ MIG หรือ เครื่องเชื่อมคาร์บอน (CO2) เป็นเครื่องเชื่อมที่ใช้วิธีการป้อนเนื้อลวดลงไปที่ชิ้นงานโดยอัตโนมัติจากเครื่อง ซึ่งอาจใช้แก๊สผสมด้วยคาร์บอนก็ได้ขึ้นอยู่กับชิ้นงานที่ต้องการเชื่อม สามารถเชื่อมได้ทั้งเหล็ก สเตนเลส ทองแดง เหล็กเหนียว อะลูมิเนียม แต่ถ้าจะเชื่อมอะลูมิเนียมต้องมีการเปลี่ยนท่อนำลวดเสียก่อน เครื่องเชื่อมประเภทนี้ต่างจากการเชื่อมอาร์กอน (แบบข้างบน) ตรงที่ใช้ก๊าซ CO2 ในการทำงาน ไม่ต้องคอยป้อนลวดเหมือนเครื่องเชื่อมอาร์กอนนั่นเอง เหมาะกับงานเชื่อมที่ต้องการคุณภาพงานสูง หรืองานตามโรงงานอุตสาหกรรม
    • ใช้ทักษะปานกลางในการทำงานเชื่อม
    • ความเร็วในการทำงานสูง ไม่ต้องเปลี่ยนลวดเชื่อมบ่อย
    • ไม่มีสแล็ก ไม่ต้องเสียเวลาในการเคาะออก
    • แนวเชื่อมมีความสวยงาม และแข็งแรงปานกลาง
    • ช่วยประหยัดเวลาในการเชื่อม
    • อุปกรณ์ต่อเชื่อมค่อนข้างมีความซับซ้อน
    • ส่วนประกอบของเครื่องเชื่อมอินเวอร์เตอร์ MIG ได้แก่ เครื่องเชื่อม, สายเชื่อม และหัวเชื่อม MIG, สายดิน และคีมจับสายดิน, แก๊ส CO2, ลวดเชื่อมและชุดป้อนลวน และเกจวัดแรงดัน CO2 
  3. เครื่องเชื่อมอินเวอร์เตอร์ MMA (Metal Manual Arc) - เครื่องเชื่อมอินเวอร์เตอร์ หรือที่หลายคนเรียกว่า “เครื่องเชื่อมไฟฟ้า” เป็นเครื่องเชื่อมที่ได้รับความนิยมเพราะเหมาะกับช่างมือใหม่ เคลื่อนย้ายง่าย ซึ่งการทำงานเป็นกระบวนการโลหะให้ติดกันโดยการอาร์ก (Arc Welding) ระหว่างลวดเชื่อมหุ้มฟลักซ์ (Electrode) กับชิ้นงาน สามารถใช้เชื่อมเหล็ก สเตนเลส และอะลูมิเนียม ทั้งนี้ควรเลือกลวดเชื่อม และปรับกระแสเชื่อมให้เหมาะสมกับงานด้วย
    • ใช้งานง่าย ไม่ต้องใช้ทักษะในการเชื่อมมาก
    • ราคาประหยัดทั้งตัวเครื่องและวัสดุสื้นเปลือง
    • ติดตั้งง่ายอุปกรณ์ไม่ซับซ้อน
    • เคลื่อนย้ายและพกพาอุปกรณ์ง่าย ไม่ใช้แก๊ส
    • มีความเร็วปานกลางในการทำงาน
    • ข้อเสียคือมีความร้อน และประกายไฟจากการอาร์ก
    • มีควันมาก ไม่เหมาะกับการเชื่อมชิ้นงานบาง ๆ

    ทริคเลือกลวดเชื่อมให้เหมาะกับการใช้งาน

    • ความหนาชิ้นงาน 2.0- 3.0 มม. เหมาะกับขนาดลวด 2.6 มม. กระแสเชื่อม 70-120 A
    • ความหนาชิ้นงาน 3.0- 5.0 มม. เหมาะกับขนาดลวด 3.2 มม. กระแสเชื่อม 110-150 A
    • ความหนาชิ้นงาน 5.0- 10.0 มม. เหมาะกับขนาดลวด 4.0-5.0 มม. กระแสเชื่อม 140-260 A

    เครื่องตัดโลหะ หรือ เครื่องตัดโลหะพลาสมา (Plasma Cutting)

    เป็นเครื่องมือสำคัญใช้ในงานตัดหรือเจาะเหล็ก สเตนเลส อะลูมิเนียม ทองแดง ทองเหลืองและโลหะต่าง ๆ โดยเฉพาะวัสดุที่ค่อนข้างมีความหนา เพราะช่วยให้คุณตัดชิ้นงานได้รวดเร็ว ประหยัดเวลา ลดการออกแรงมาก และได้ผลงานที่ออกมาสวยงามตามแบบที่ต้องการ 

    การทำงานของเครื่องตัดโลหะพลาสมา

    ในการตัดโลหะพลาสมาจะประกอบไปด้วย 3 อุปกรณ์หลัก ได้แก่

    1. เครื่องปั๊มลม (Air Compressor) : ทำหน้าที่ในการอัดลมหรืออากาศเข้าสู่เครื่องตัดโลหะพลาสมา เพื่อเป็นแหล่งพลังงานและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตัวเครื่องตัดโลหะพลาสมา
    2. เครื่องตัดโลหะพลาสมา (Plasma Cutting) : มีหน้าที่ช่วยควบคุมกระแสไฟฟ้า แรงดันไฟฟ้า ให้เข้ากับหัวตัดและสร้างกระแสไฟที่มีพลังงานความร้อนสูง หรือที่เรียกว่าพลาสมาออกมาทางสายตัด
    3. สายตัดและหัวตัดพลาสมา (Plasma Torch) : เป็นอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องตัดพลาสมา เพื่อลำเลียงกระแสไฟและลมที่ออกมาจากตัวเครื่องเข้าสู่หัวตัดก่อให้เกิดเป็นพลาสมาโดยสมบูรณ์ เพื่อให้ตัดชิ้นงานได้อย่างราบรื่น อีกทั้งควรเลือกหัวตัดตามความเหมาะสมในการใช้งาน เพราะหัวตัดแต่ละรูปแบบจะมีกระแสและแรงดันไฟที่แตกต่างกัน

    เครื่องตัดโลหะพลาสมาเหมาะสำหรับใช้ในงานแบบไหน

    เครื่องตัดโลหะพลาสมาเหมาะสำหรับงานออกแบบ ตกแต่ง ซ่อมแซมทั้งในรูปแบบผู้ผลิต ก่อสร้าง หรืองาน D.I.Y และใช้ยังตัดหรือเจาะโลหะ สเตนเลส อะลูมิเนียม ทองแดง ทองเหลืองได้ดี มีคุณภาพอีกด้วย

    ข้อดีของเครื่องตัดโลหะพลาสมา

    • สามารถตัดหรือเจาะมุมโค้งได้อย่างง่ายดายและมีความคมสวย
    • มีความเร็วในการตัดชิ้นงาน ช่วยประหยัดเวลาในการทำงานมากขึ้น
    • สามารถตัดวัสดุที่มีความหนาได้เป็นอย่างดี
    • เครื่องตัดโลหะพลาสมาจะจ่ายกระแสไฟคงที่ทำให้ชิ้นงานที่ตัดมีความเรียบเนียน
    • มีระบบป้องกันหรือตัดไฟอัติโนมัติในกรณีที่เครื่องมีอุณหภูมิสูงเกินไป
    • ลดเสียงรบกวนเมื่อตัดชิ้นงานใต้น้ำ

    ข้อเสียเครื่องตัดโลหะพลาสมา 

    • บางรุ่นมีข้อจำกัดเรื่องความหนาของชิ้นงานในการตัด
    • ใช้พลังงานไฟฟ้าในการตัดสูง
    • มีราคาค่อนข้างสูง เพราะจำเป็นต้องใช้หลายอุปกรณ์ร่วม
    Recommended products